Relative Clauses

 ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาเรื่อง Relative Clauses ที่สุดแสนจะวิชาการ ขอถามอะไรเล่นๆสักหน่อยน่ะครับ
คุณจำได้ไหมครับว่าหนังเรื่องแรกที่ดูกับแฟนของคุณคือเรื่องอะไร, จำได้ไหมครับว่าวันที่ไปเที่ยวด้วยกันครั้งแรกตรงกับวันอะไร ปี พ.ศ อะไร สำหรับผม ผมจำได้แค่ว่า หนังเรื่องแรกที่ผมไปดูกับแฟนคือเรื่อง เขียนเป็นส่งตาย (ชอบดูหนังผี) และก็จำพ.ศที่เราไปเที่ยวด้วยกันครั้งแรกได้ครับ ที่เอามาเล่าให้ฟังไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง Relative Clauses ที่เราจะเรียนในวันนี้หรอกครับ เพียงแต่จู่ๆก็นึกขึ้นได้ พอนึกถึงทีไรก็มีความสุขทุกที...เวลาที่เราอยู่ห่างไกลแฟน พอเรานึกถึงวันที่เราจีบกันใหม่ๆ มันเหมือนเรากำลังกลับไปสู่วัยรุ่นอีกครั้ง ลองนึกถึงดุบ้างน่ะครับ หากว่าใครเป็นคนที่โรแมนติกแบบผม(เข้าข้างตัวเองซะเลย)....ไปว่าเรื่องภาษาอังกฤษของเรากันต่อดีกว่า

Relative Clauses

ถาม : Relative Clause คือประโยคอะไร แบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง และแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร จงบอกมา

ตอบ : Relative Clause แปลว่า “สัมพันธานุประโยค” ได้แก่ประโยคที่ไปขยายคำนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า (ถ้ามองให้ชัดเจนแล้วจะเห็นว่า Relative Clause แท้ที่จริงก็คือ Adjective Clause นั่นเอง) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. Defining Relative Clause (นิยมสัมพันธานุประโยค)
2. Non-defining Relative Clause (อนิยมสัมพันธานุประโยค)
1.1 Defining Relative Clause (นิยมสัมพันธานุประโยค) ได้แก่ ประโยคที่ทำหน้าที่คล้าย Adjective (คุณศัพท์) เพื่อไปขยายนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าให้ได้ใจความสมบูรณ์และชัดเจนขึ้นกว่า เป็นคนไหน สิ่งไหน อะไร ของใคร เป็นต้น หากไม่มีประโยค defining relative clause มาขยายแล้ว คำนามหรือสรรพนามที่กล่าวถึงนั้นก็จะไม่เจาะจง จะเป็นการกล่าวลอยๆยากที่ผู้ฟังจะเข้าใจกระจ่างได้ อาจทำให้ต้องซักถามกันวุ่นว่า เป็นใคร อะไร หรือของใคร ทั้งนี้เพราะขาด defining relative clause มากำหนดชี้เอาไว้นั่นเอง ขอให้ดูประโยคต่อไปนี้

The thief was arrested.
ขโมยถูกจับได้แล้ว

The book was a novel.

หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือนวนิยาย

จาก 2 ประโยคที่ยกมาให้ดูนี้ ผู้ฟังจะไม่ทราบเลยว่า ขโมยคนไหนถูกจับและหนังสือเล่มนั้นหมายถึงเล่มไหนเป็นหนังสือนวนิยาย ที่นี้เมื่อเราเพิ่ม defining relative clause ที่หลังนาม เนื้อความก็จะสมบูรณ์ขึ้น

The thief who plundered the bank yesterday was arrested.

ขโมยที่ปล้นธนาคารเมื่อวานนี้ถูกจับได้แล้ว

(who plundered the bank yesterday เป็น defining relative clause ใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อขยายเจาะจง thief ให้เนื้อความสมบูรณ์ขึ้น)

The book which I borrowed from the library three days ago was a novel.

หนังสือที่ผมยืมมาจากห้องสมุดเมื่อ 3 วันที่แล้วเป็นหนังสือนวนิยาย

(which I borrowed from the library three days ago เป็นประโยค defining relative clause มาขยายหรือเสริมให้เนื้อความชัดเจนขึ้นว่าหมายถึงหนังสือเล่มไหนที่เป็นนวนิยาย)

จากตัวอย่างที่กล่าวมา จึงพอสรุปลักษณะของ defining relative clause ได้ดังนี้

1. defining relative clause ทำหน้าที่คล้ายคำ Adjective เพื่อไปขยายนามที่อยู่ข้างหน้าให้ใจความสมบูรณ์และชัดเจนขึ้นว่าหมายถึงใคร อะไร

2. ไม่มีเครื่องหมาย comma (,) อยู่ระหว่าง noun กับ defining relative clause

3. ใช้คำ Relative Pronoun ที่ขึ้นต้นประโยค defining relative clause ให้เหมาะสมกับนามและหน้าที่ (Function)

2.2 Non-defining Relative Clause (อนิยมสัมพันธานุประโยค)

ได้แก่ ประโยคที่ทำหน้าที่คล้าย Adjective เช่นกัน แต่การทำหน้าที่คล้าย Adjective ของข้อนี้นั้นไม่สู่จะมีความจำเป็นแก่ใจความในประโยคเท่าไรนัก เพราะมิได้ไปขยายคำนามที่มาข้างหน้าโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากว่า คำนามที่มาข้างหน้านั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นใคร เป็นอะไร สิ่งไหน หรือของใคร clause ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในที่นี้ จึงเป็นเพียงแต่เสริมความให้ละเอียดมากขึ้นจากสิ่งที่ทราบดีอยู่แล้วเท่านั้น แม้จะตัดข้อความที่เพิ่มนี้ทิ้งไปก็จะไม่ทำให้ประโยคนั้น เสียความแต่อย่างใด

เพื่อจะแยกว่า ข้อความที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็น Non-defining Relative Clause จึงต้องใส่เครื่องหมาย comma คั่นข้างหน้า และ ข้างหลัง clause ของมันไว้เสมอ ขอให้ดูประโยคต่อไปนี้

James Smith is coming to see me.

เจมสมิธจะมาพบผม

Our teacher of English is getting married soon.

ทั้ง 2 ประโยคข้างบนนี้เนื้อความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ใครจะมาพบผม และใครจะแต่งงานในไม่ช้า แต่เมื่อเพิ่ม non-defining relative clause เข้าไปอีก ก็จะได้ประโยคว่า.............

James Smith, who lives next door, is coming to see me.

เจมสมิธผู้ซึ่งอาศัยอยู่บ้านติดกันกำลังจะมาพบผม

Our teacher of English, who returned abroad, is getting married soon.

ครูสอนภาษาอังกฤษของเราผู้ซึ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะแต่งงานในไม่ช้านี้

ในประโยคแรก clause ที่แทรกเข้ามาคือ who lives next door และประโยคหลัง who returned abroad เป็น Non-defining relative clause (เพราะไม่มีความจำเป็นแก่ในใจความของประโยค เพียงแต่เสริมให้ละเอียดเท่านั้น)

จากตัวอย่างที่กล่าวจึงพอสรุปลักษณะของ non-defining relative clause ได้ดังนี้

1. non-defining relative clause ไม่มีความจำเป็นแก่ใจความในประโยค เพียงแต่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้ความละเอียดขึ้นจากสิ่งที่ทราบอยู่แล้วเท่านั้น

2. ต้องมีเครื่องหมาย Comma คั่นหน้าและหลังของ Clause มันเสมอ

3. ต้องใช้ Relative Pronoun ซึ่งไม่มีลักษณะชี้เฉพาะเจาะจง เช่น who, whom หรือ which เป็นต้น จะใช้ that ไม่ได้ และต้องให้สอดคล้องกับหน้าที่ (Function) ของมันด้วย

สุ่มบทความภาษาอังกฤษจากบทความทั้งหมด